ประวัติ ของ การเคหะแห่งชาติ (ประเทศไทย)

สืบเนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองเคหสถาน กรมประชาสงเคราะห์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2483 หลังจากเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี พ.ศ. 2504 ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานอาคารสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2493) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ในปี พ.ศ. 2496) และสำนักงานปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมเทศบาลนครกรุงเทพ (ปี พ.ศ. 2503) จนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จึงมีการกำหนดนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยขึ้น และได้จัดตั้ง “การเคหะแห่งชาติ” ขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 [2] โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. จัดให้มีเคหะเพื่อประชาชน เช่า หรือเช่าซื้อ
  2. จัดหาเงินกู้มาสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเช่าซื้อหรือให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลที่จะสร้างที่อยู่อาศัย
  3. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดสรรที่ดิน

ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ที่ให้อำนาจการเคหะแห่งชาติออกพันธบัตรหรือตราสารการลงทุนได้ [3]

ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2522 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ฉบับที่ 2 ที่ได้ให้อำนาจการเคหะแห่งชาติเวนคืนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือรื้อถอนแหล่งเสื่อมโทรมได้ [4]

ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้และคณะกรรมาธิการได้นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 แต่ที่ประชุมสภาไม่เห็นชอบร่างทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอันตกไป [5]

และต่อมาในปีพ.ศ. 2537 ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติ การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 [6] ดังนี้

  1. จัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย
  2. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเอง หรือแก่บุคคลผู้ประสงค์ จะร่วมดำเนินกิจการกับ กคช.ในการจัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อหรือซื้อ
  3. ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน
  4. ปรับปรุงรื้อหรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรมเพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น
  5. ประกอบธุรกิจการอื่นที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเคหะแห่งชาติ (ประเทศไทย) http://arthorn.nha.co.th http://www.nha.co.th http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2517/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2537/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/...